slider2
slider3
previous arrow
next arrow
รู้จัก FAZE CLAN ธุรกิจทีมอีสปอร์ตที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ และมีสาขาในประเทศไทย
Faze Clan ESPORT

รู้จัก FAZE CLAN ธุรกิจทีมอีสปอร์ตที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ และมีสาขาในประเทศไทย

Faze Clan คือหนึ่งในทีมอีสปอร์ตระดับโลก มีฐานผู้ติดตามรวมกันทุกแพลตฟอร์มออนไลน์กว่า 500 ล้านราย และพึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ไปเมื่อเดือน ก.ค. 2022 ถือเป็นทีมแรก ๆ ที่เข้าระดมทุนในตลาด

มากกว่านั้น Faze Clan ยังเข้ามาเปิดทีมอีสปอร์ตในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2020 สร้างความเข้มข้นให้วงการเกมไทยที่เวลานั้นเริ่มมีทีมจากทุนต่างชาติเข้ามาทำตลาดมากขึ้น

กว่าจะเดินมาเป็นทีมชื่อดัง Faze Clan มีที่มาอย่างไร และนอกจากทีมอีสปอร์ต Faze Clan สร้างรายได้จากธุรกิจอื่นหรือไม่ Brand Inside อยากชวนมาทำความรู้จักธุรกิจนี้ให้มากขึ้นกัน

จุดเริ่มต้นจากกลุ่มเด็กยิงแม่น

Faze Clan ก่อตั้งเมื่อปี 2010 โดยกลุ่มวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกาที่ชื่นชอบเกมแนว FPS หรือเกมยิงมุมมองบุคคลที่ 1 และตั้งทีมแข่งขันอีสปอร์ตเกม Call of Duty เป็นเกมแรกหลังจากนั้น 1 ปี แต่ด้วยจุดแตกต่างของทีมที่เน้นเรื่องทำเนื้อหาการยิง Trick Shot ในเกมชั้นนำทำให้ปี 2012 ช่อง YouTube ของทีมมีผู้ติดตาม 1 ล้านราย

ถือเป็นที่อีสปอร์ตทีมแรก ๆ ที่มีผู้ติดตามถึงยอดดังกล่าว มากกว่านั้นจุดต่างดังกล่าวยังดึงสปอนเซอร์เครื่องดื่มให้พลังงาน G FUEL เข้ามาสนับสนุนทีมด้วย และเมื่อเอาดีทางด้านนี้ได้ Faze Clan จึงจริงจังกับการทำเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จนปี 2016 มีผู้ติดตามในทุกแพลตฟอร์มมากกว่า 100 ล้านราย

ฐานแฟน ๆ เยอะขนาดนี้จึงไม่แปลกที่ Faze Clan จะจริงจังกับการทำธุรกิจมากขึ้น ผ่านการทำแผนเพื่อช่วยเหลือเรื่องการตลาดให้กับแบรนด์ที่สนใจ ทั้งเซ็นสปอนเซอร์กับ Nissan และ McDonald’s, เป็นพาร์ตเนอร์ครีเอทีฟให้กับทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้ และดึง Snoop Dogg เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทเพื่อช่วยโปรโมทอีกทาง เป็นต้น

Faze ClanFaze Clan

วางตัวเป็นแพลตฟอร์มความบันเทิงเพื่อคนรุ่นใหม่

แม้ตอนนี้ Faze Clan จะชนะเลิศแข่งขันใหญ่ของเกมต่าง ๆ ถึง 34 รายการ ทั้งมีฐานผู้ติดตามในทุกแพลตฟอร์มรวมกันมากกว่า 500 ล้านราย แต่แบรนด์ไม่ได้หยุดแค่นี้ เพราะ Faze Clan ต้องการเป็นศูนย์รวมความบันเทิงเพื่อคนรุ่นใหม่ พร้อมยกระดับให้ตัวทีมทัดเทียมกับทีมสโมสรกีฬาอื่น ๆ

โมเดลรายได้ของ Faze Clan หลังจากนี้จะแบ่งเป็น 5 ช่องทางประกอบด้วย

  • Content ที่เหมาะสมกับคนรุ่นใหม่ ผ่านครีเอเตอร์ในระบบเกือบ 100 คน ทำรายได้จากการโฆษณา
  • Brand Sponsorship จูงใจด้วยการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และสามารถทำการตลาดรูปแบบต่าง ๆ ร่วมกัน
  • Esports/Gaming สร้างรายได้จากการทำทีมอีสปอร์ต เช่น การได้รางวัล หรือการซื้อขายตัวผู้เล่น
  • Consumer Product ที่นำ IP ต่าง ๆ ของ Faze Clan มาต่อยอดเป็นสินค้า และบริการ
  • International หรือการบุกต่างประเทศมากขึ้น เช่น ยุโรป และเอเชีย

ปัจจุบันมุมมองของแบรนด์ต่าง ๆ ในการเข้ามาสนับสนุนอีสปอร์ตเริ่มเปลี่ยนไป เช่น กรณีของ Faze Clan ที่เริ่มต้นมีผู้สนับสนุนเป็นสินค้าเกี่ยวกับเกม เช่น Steelseries หรือเครื่องดื่มให้พลังงาน G FUEL แต่ปัจจุบันมีแบรนด์รถยนต์ กับธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่มเข้ามาเพิ่มมากขึ้น

หากเจาะไปที่รายละเอียดจะพบว่า Faze Clan ได้รับการมีส่วนร่วมจากผู้ติดตามในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น กดไลค์ หรือรีทวีต เป็นอันดับที่ 3 ของทีมสโมสรกีฬาในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นผู้นำของทีมอีสปอร์ตจากทั่วโลกในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน

Faze Clan
ดอม โชติวนิช Country Director ทีม Faze Clan ประเทศไทย

บุกตลาดไทยสร้างโอกาสรายได้ใหม่

ดอม โชติวนิช Country Director ทีม Faze Clan ประเทศไทย เล่าให้ฟังว่า จากการระบาดของโรคโควิด-19 และภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ทีมอีสปอร์ตเริ่มมองหาโอกาสการทำธุรกิจในพื้นที่เอเชียมากขึ้น เนื่องจากพื้นที่นี้มีกำลังซื้อสูง และเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ทีมชั้นนำระดับโลกยังไม่มาบุกตลาดมากนัก

“ก่อนหน้านี้หลายทีมให้ความสำคัญกับตลาดยุโรป เพราะพื้นที่นั้นมีนักกีฬาเกมแนว FPS เก่ง ๆ จำนวนมาก แต่ด้วยภาวะสงครามทำให้ทุกทีมลดความสำคัญ และหันมาบุกตลาดเอเชียมากขึ้น ซึ่ง Faze Clan คือหนึ่งในนั้น และเราก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จกับการบุกตลาดนี้”

สำหรับในประเทศไทย Faze Clan มีทีมอีสปอร์ต 1 ทีมเพื่อแข่งขันเกม PUBG โดยผู้เล่นแต่ละคนจะมีโซเชียลมีเดียของตัวเองเพื่อสร้างรายได้จากการทำเนื้อหารูปแบบต่าง ๆ พร้อมกับมีทีมงานช่วยเหลือด้านการติดต่อกับแบรนด์สินค้าเพื่อเข้ามาทำตลาดร่วมกันในวิธีต่าง ๆ

Faze Clan
ทีมนักกีฬา Faze Clan ในประเทศไทย

ยอมรับว่าขายแพง จะทำแบบทีมในไทยไม่ได้

“ด้วยการที่เราเป็นทีมระดับโลก มีสปอนเซอร์เป็นแบรนด์ชั้นนำ แถมบางแบรนด์ยังติดหน้าอกเสื้อเราไม่ได้เลย ทำให้การทำตลาดในไทยก็ยากเหมือนกัน เพราะยอมรับว่าเราขายแพง ทำให้หลัก ๆ ในการสร้างรายได้จะมาจากการทำ Branded Content กับน้อง ๆ นักกีฬาที่มีฐานแฟนคลับในไทยมากว่า”

ดอม เสริมว่า หลังจากนี้ Faze Clan จะขยายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น โดยเริ่มต้นที่ประเทศไทย ก่อนขยายตลาดไปอินโดนีเซีย, มาเลเซีย และเวียดนาม เพราะเห็นโอกาสจากเม็ดเงินในธุรกิจเกม และอีสปอร์ตที่เติบโตต่อเนื่อง และยังมีทีมระดับโลกเข้าไปทำตลาดไม่มาก

ทั้งนี้ Faze Clan จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ด้วยวิธี SPAC หรือควบรวมกิจการที่จดทะเบียนในตลาดอยู่เดิม ณ วันที่ 15 ต.ค. มีมูลค่ากิจจการ 338 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 13,000 ล้านบาท โดยในปี 2021 ทำรายได้ไปทั้งหมด 50 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2,000 ล้านบาท แต่ขาดทุน 19 ล้านดอลลาร์ หรือราว 730 ล้านบาท

สรุป

Faze Clan คือทีมอีสปอร์ตชื่อดังระดับโลก มีทีมแข่งในทุกเกมชั้นนำ และมีจุดแข็งเรื่องการทำคอนเทนต์น่าสนใจจนมีครีเอเตอร์มากมายในระบบ ส่วนปีนี้ Faze Clan ตั้งเป้ารายได้ที่ 90 ล้านดอลลาร์ แต่ในไตรมาส 2 บริษัททำรายได้ 18.8 ล้านดอลลาร์ และเมื่อรวมไตรมาส 1 จะอยู่ที่ 34.6 ล้านดอลลาร์ ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย

Faze Clan

 

ติดตามเพจเพื่อรับข่าวสารไอที ทันเทคโนโลยี ได้ที่ เพจ :  ไอเทพไอทีสรุปให้ – itep it

ที่มา : thaitechnewsblog

อ้างอิง: Faze Clan 12PC Gamer

inwiptv